content
ใครที่เคยทำงานบริษัทญี่ปุ่น หรือปัจจุบันกำลังทำอยู่ก็ตามสิ่งหนึ่งที่สังเกตถึงความแตกต่างของบริษัทญี่ปุ่นกับหลายองค์กรนั่นคือพวกเขามักนิยม “การทำงานเป็นทีม” มากกว่าการทำเพียงคนเดียว ด้วยแนวคิดของคนญี่ปุ่นมักมองว่าการร่วมมือ ร่วมแรง ร่วมใจ มักทำให้ผลลัพธ์ออกมาดีตามที่คาดหวังเอาไว้ได้ไม่ยาก จึงอยากแนะนำ 8 เทคนิคที่จะช่วยให้การทำงานในสไตล์ Teamwork ของคุณประสบผลสำเร็จเกินเป้าหมายกว่าที่เคย
8 เทคนิคการทำงานเป็นทีมในบริษัทญี่ปุ่น
- เชื่อใจคนในทีมและพร้อมให้โอกาสเสมอ
เมื่อตัดสินใจรับใครเข้ามาอยู่ในทีม หรือมีเหตุผลอันใดก็ตามที่บุคคลหนึ่งต้องมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ของคุณ สิ่งแรกที่ต้องทำเลยนั่นคือให้ความเชื่อใจและให้โอกาสกับคน ๆ นั้นเสมอ ไม่มีใครเก่งมาตั้งแต่เกิด ทุกคนสามารถเรียนรู้ ปรับปรุง พัฒนาตนเองไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้ หากตรงไหนยังไม่น่าพอใจก็ค่อย ๆ แก้ไขทีละขั้นตอน แล้วคนในทีมจะมองเห็นคุณค่าและอยากสร้างสิ่งดีที่สุดเพื่อทุกคน
- แชร์ไอเดียและให้ความสำคัญกับทุกข้อเสนอแนะ
เมื่อการทำงานเป็นทีมคือการรวมตัวกันของคนจำนวนมากจึงไม่แปลกที่บ่อยครั้งแนวคิด ไอเดีย ความคิดเห็นจะแตกต่างกันออกไป แต่นั่นไม่ใช่ประเด็นสำคัญเพราะทุกคนต้องสามารถแชร์สิ่งที่ตนเองอยากนำเสนอ จากนั้นที่ประชุมลองมาชั่งน้ำหนักโดยให้ความสำคัญกับทุกประเด็นแล้วค่อยเลือกวิธีที่ประเมินแล้ว่าดีที่สุดต่อผลงานของทีมพร้อมเหตุผลที่เหมาะสม
- สร้างเป้าหมายของแต่ละคนให้ชัดเจน
ปกติแล้วการทำงานบริษัทญี่ปุ่นฝ่ายบริหารมักตั้งเป้าหมายใหญ่มาให้กับแต่ละทีมจากนั้นก็หาวิธีจัดการเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามที่บริษัทคาดหวังไว้ หน้าที่ของหัวหน้าทีมคือการกระจายเป้าหมายให้กับลูกน้องแต่ละคนว่าใครรับผิดชอบส่วนไหน ซึ่งสิ่งสำคัญคือต้องอธิบายให้ชัดเจน ตรงประเด็น และครอบคลุมกับทักษะของแต่ละคนมากที่สุด เมื่อทุกคนในทีมรู้เป้าหมายที่ตนเองต้องทำก็จะเริ่มวางแผน สร้างกรอบแนวคิด และลงมือปฏิบัติตามมา
- หากิจกรรมผ่อนคลายภายในทีมบ้าง
เข้าใจดีว่าเวลาอยู่ในบริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรใดก็ตามมักมีความเครียดเกิดขึ้นเสมอ ยิ่งถ้าต้องรับผิดชอบกับโปรเจกต์ใหญ่ด้วยแล้ว บางคนยังพอสู้ไว้แต่กับอีกหลายคนอาจรู้สึกกดดันสุด ๆ การหากิจกรรมผ่อนคลายให้กับทุกคนในทีมจึงเป็นสิ่งที่ต้องทำ เช่น การปาร์ตี้หลังเลิกงานวันศุกร์ ชวนกันออกทริปสั้น ๆ วันสุดสัปดาห์ วิธีนี้นอกจากช่วยให้เกิดความผ่อนคลายแล้วยังกระชับความสัมพันธ์ของทุกคนให้เป็นใจเดียวกัน ใครที่กำลังเจอกับปัญหาแต่ไม่กล้าพูดคุยเมื่อพฤติกรรมถูกละลายย่อมทำให้คนเหล่านั้นกล้าพูด กล้าขอคำปรึกษามากขึ้นด้วย
- สื่อสารพูดคุยกันอยู่เสมอ
หลักสำคัญอย่างหนึ่งของการทำงานเป็นทีมไม่ใช่แค่แบ่งหน้าที่แล้วก็ทำเฉพาะของใครของมัน แต่ต้องมีการสื่อสาร พูดคุย อัปเดตความเคลื่อนไหว และรู้ทิศทางที่เกิดขึ้นของเนื้องานอยู่เสมอ เพื่อให้ทุกคนเข้าใจว่าตอนนี้ผลลัพธ์ดำเนินไปถึงจุดไหน เหลืออีกกี่เปอร์เซ็นต์ ปัญหาหลักของโปรเจกต์มีจุดใดบ้าง ที่สำคัญการพูดคุยกันประจำเวลางานของแต่ละคนสำเร็จผลลัพธ์ที่ได้จะไปตามทิศทางเดียวกันหมด การปรับแก้ไขน้อยลง ลดโอกาสเกิดข้อผิดพลาดด้วย
- ยินดีรับฟังทุกความคิดเห็นของคนในทีม
แม้หน้าที่ความรับผิดชอบหรือลักษณะงานของตนเองจะไม่เหมือนกับคนอื่นในทีม แต่บางคนอาจเคยมีประสบการณ์หรือมีไอเดียที่อยากบอกเล่า เมื่อคุณทำงานดราฟต์แรกออกมาแล้วได้รับคำแนะนำ ข้อเสนอแนะ หรือความคิดเห็นใด ๆ ก็ตาม อย่าพึ่งท้อ หงุดหงิด อารมณ์เสีย แต่จงรับฟังแล้วนำมาวิเคราะห์ว่าสิ่งที่ทีมแนะนำสามารถปรับแก้ไขในจุดใดได้หรือไม่ หากประเมินแล้วน่าจะดีกว่าก็ลองทำตามไม่ใช่เรื่องเสียหาย
- แตกต่างอย่างลงตัว ยอมรับซึ่งกันและกัน
ไม่ว่าจะอยู่บริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรไหนก็ตามการที่คนหมู่มากรวมตัวกันย่อมมีความแตกต่างในหลายมิติ เช่น ลักษณะนิสัย พฤติกรรม สไตล์การทำงาน ความชอบส่วนตัว ไม่ต้องพยายามตั้งข้อสงสัยหรือหาคำตอบใด ๆ แต่จงยอมรับความแตกต่างนี้หากมันไม่ได้ทำให้ตัวคุณหรือคนอื่นในทีมเดือดร้อน นี่เป็นวิธีที่ช่วยให้ผลลัพธ์ออกมาเกินเป้าหมายเพราะแต่ละคนมีอิสระในการดีไซน์งานของตนเองอย่างเต็มที่
- มีการตัดสินใจร่วมกันในบางเรื่อง
คล้ายกับการประชุมเพื่อหาข้อสรุปแต่สิ่งสำคัญเมื่อคุณทำงานบริษัทญี่ปุ่นโดยมีเป้าหมายชัดเจนนั่นคือ ทุกคนในทีมต้องมีส่วนรับรู้เกี่ยวกับการตัดสินใจแนวทางที่เหมาะสมของโปรเจกต์ หลักง่าย ๆ คือ หากมีข้อเสนอมากกว่า 1 ด้าน ต้องนำข้อมูลมาอธิบายเพื่อให้คนอื่นพิจารณาแล้วโหวตว่าแนวทางไหนเหมาะกับงานที่กำลังจะเดินหน้าต่อมากที่สุด แม้บางครั้งอาจไม่ถูกใจคุณบ้างแต่ก็ต้องให้เกียรติเสียงคนส่วนใหญ่แล้วลองทำตาม หากไม่สำเร็จจึงค่อยลองนำไอเดียอีกด้านไปปรับใช้ก็ไม่เสียหาย
นี่คือทั้ง 8 เทคนิคการทำงานเป็นทีมหากคุณต้องมีส่วนร่วมกับโปรเจกต์ของบริษัทญี่ปุ่น และทุกองค์กรทั่วโลก ด้วยการทำงานบริษัทญี่ปุ่นมักต้องขยันและทุ่มเทมากกว่า 100% การเลือกทำงานแบบเป็นทีมจึงช่วยแบ่งเบาภาระบางส่วนและโฟกัสกับเป้าหมายของตนเองได้ชัดเจนมากขึ้น ผลลัพธ์ที่ออกมาจึงมีโอกาสเกินเป้าหมายพร้อมสร้างความสำเร็จให้กับตนเองและทุกคนในทีม