content
จะบอกว่าเป็นหน้าที่ก็ไม่เชิง เป็นความรับผิดชอบก็ไม่ใช่ทั้งหมดสำหรับคนที่ผ่านพ้นวัยเรียนหนังสือเข้าสู่วัยทำงานแบบเต็มตัว เพราะเมื่อมีงานก็เท่ากับมีเงินในการหาเลี้ยงชีพให้กับตนเอง อย่างไรก็ตามสิ่งที่อยากให้พึงระวังเอาไว้ไม่ว่าจะทำงานบริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรไหนนั่นคือ การทุ่มเทให้งานเป็นเรื่องดี แต่ต้องรู้จักจัดสรรเวลาพักผ่อนด้วย ไม่เช่นนั้นคุณอาจเข้าสู่ภาวะที่เรียกว่า “คาโรชิ ซินโดรม” (Karoshi Syndrome) หรือ โรคทำงานหนักจนตาย!
โรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) คือ อาการชนิดหนึ่งที่ถูกจำกัดความให้กลายเป็นโรคทางร่างกาย สาเหตุเกิดจากการทำงานหนักจนร่างกายไม่สามารถแบกรับความเครียด ความเหนื่อยล้าได้อีกต่อไป จุดเริ่มต้นอาจมีทั้งอาการทางร่ายกาย เช่น อ่อนเพลีย เหนื่อยล้า นอนไม่ค่อยหลับ ร่างกายขาดสารอาหาร ทานอาหารไม่ตรงเวลา ไปจนถึงอาการทางด้านจิตใจ อาทิ เครียดจัด หมดกำลังใจ เข้าสู่ภาวะซึมเศร้า แพนิค รู้สึกตนเองไม่มีค่า หดหู่ กดดันกับการใช้ชีวิต การทำงาน จนท้ายที่สุดก็เกิดเรื่องไม่คาดฝันด้วยการเสียชีวิตจากสาเหตุต่าง ๆ แบบเฉียบพลัน เช่น ฆ่าตัวตาย เส้นเลือดในสมองแตก หัวใจวายเฉียบพลัน ทั้งที่บุคคลดังกล่าวไม่ได้มีอาการใดของโรคแสดงมาก่อน
โรคคาโรชิ ซินโดรม ถูกค้นพบขึ้นเป็นครั้งแรกในประเทศญี่ปุ่น ย้อนกลับไปในปี ค.ศ. 1969 พนักงานชายคนหนึ่งวัย 29 ปี ทำงานบริษัทญี่ปุ่นในประเทศของตนเองด้วยอาชีพพนักงานขนส่งหนังสือพิมพ์รายใหญ่สุดของญี่ปุ่น ปรากฏเขาเสียชีวิตจากโรค Karoshi Syndrome เนื่องจากอาการเส้นเลือดในสมองแตกแบบเฉียบพลัน
การใช้ชีวิตยุคปัจจุบันคนเสี่ยงโรคคาโรชิ ซินโดรม มากขึ้น
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการใช้ชีวิตในยุคปัจจุบันที่มีการแข่งขันสูง ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากมีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคคาโรชิ ซินโดรม ขึ้นกับตนเอง ไม่ว่าคุณทำงานบริษัทญี่ปุ่น องค์กรของไทย หรือประเทศใดก็ตาม มีผลการศึกษาเมื่อปี ค.ศ. 2020 ระบุว่า ตลอดระยะเวลา 1 ปี มีผู้เสียชีวิตจากโรคหลอดเลือดสมองและโรคหลอดเลือดหัวใจกว่า 7 แสนคน ทั่วโลก สาเหตุเพราะการทำงานหนักมากเกินที่ร่างกายรับไหว ขณะที่ WHO (World Health Organization) หรือองค์การอนามัยโลกก็ให้ข้อมูลสอดคล้องเกี่ยวกับคนที่ทำงานหนักมากเกินไป เฉลี่ยมีชั่วโมงทำงานเกิน 55 ชั่วโมง / สัปดาห์ มีความเสี่ยงที่อาจก่อให้เกิดภาวะ Karoshi Syndrome ได้
มีการสำรวจเพิ่มเติมด้านสาเหตุการเสียชีวิตของคนวัยทำงาน ผลปรากฏ การเสียชีวิตจากโรคหัวใจสูงถึง 42% ขณะที่โรคหลอดเลือดสมองอยู่ที่ 19% และถ้าลองเจาะลึกสาเหตุของการเกิด 2 โรคดังกล่าวแบบเข้าใจง่ายก็มีโอกาสเป็นไปได้ว่าส่วนหนึ่งเพราะร่างกายและสมองทำงานหนักมากเกินไปจนขาดการพักผ่อนที่เพียงพอและนำไปสู่โรคดังกล่าวนั่นเอง
เช็กอาการสักนิด คุณเสี่ยงเป็นโรค Karoshi Syndrome หรือไม่?
เข้าใจดีว่าการทำงานทุกที่ไม่ว่าจะเป็นทำงานบริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรใดก็ตามย่อมต้องมีภาวะด้านแรงกดดัน ความเครียดเป็นเรื่องปกติ แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณเริ่มรู้สึกว่าตนเองมีอาการเหล่านี้นั่นอาจกำลังบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคคาโรชิ ซินโดรม (Karoshi Syndrome) และจำเป็นต้องรีบหาวิธีแก้ไขอย่างเร่งด่วนที่สุด
- สมองคิดแต่เรื่องงานทุกเวลา แม้ถึงเวลาเลิกงาน หรือในช่วงวันหยุด จนบ่อยครั้งนอนไม่หลับ นอนหลับไม่เต็มตื่น หลับไม่สนิท
- ทำงานเกินเวลาติดต่อกันนาน ๆ หรือเฉลี่ยแล้วต้องทำงานเกิน 55 ชั่วโมง / สัปดาห์
- มีภาวะเครียดจากการทำงานชัดเจน โดยเฉพาะอาการเครียดสะสมจากเรื่องงาน ร้องไห้บ่อย หรือนึกโทษตัวเองที่ทำผิดพลาด
- มีอาการแพนิค รู้สึกกลัวล่วงหน้า ตกใจเมื่อได้ยินเสียงของหัวหน้า ลูกค้า หรือคนรอบข้างที่มักเข้ามาตำหนิติเตียนหรือแจกจ่ายงานให้ทำบ่อย ๆ
- ไม่สามารถลางานได้เนื่องจากมีพันธะผูกพัน กังวลใจว่าลาแล้วจะต้องรับผิดชอบงานมากขึ้น
- ไม่มีเวลาในการอยู่กับเพื่อนฝูง ครอบครัว หรือคนใกล้ชิด
วิธีแก้ปัญหาเบื้องต้นหากไม่อยากเสี่ยงโรคคาโรชิ ซินโดรม
- หากรู้ว่างานที่ตนเองรับผิดชอบมากเกินไป ไม่สามารถทำได้ต้องแจ้งผู้ที่เกี่ยวข้องเพื่อผลักภาระบางส่วนให้คนอื่นรับผิดชอบแทนบ้าง
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพราะทุกครั้งที่ร่างกายเหนื่อยมักทำให้ความวิตกกังวลหายไปได้ชั่วคราว และยังช่วยให้คิดเรื่องต่าง ๆ ได้ดีขึ้น ลดความเสี่ยงการเป็นโรค Karoshi Syndrome
- หาเวลาพักผ่อนโดยไม่ต้องสนใจเรื่องงาน เช่น ปิดมือถือ ปิดการแจ้งเตือนช่องทางติดต่อทั้งหมด หรือไม่ต้องสนใจหากนั่นไม่ใช่ช่วงเวลาการรับผิดชอบงานของตนเอง
- ในแต่ละวันควรหาเวลาได้พักผ่อนสมองจากการทำกิจกรรมที่ชอบบ้าง เช่น ดูซีรี่ย์ ฟังเพลง เล่นเกม อ่านหนังสือ ช้อปปิ้ง หรือแม้แต่การปาร์ตี้สังสรรค์แบบนาน ๆ ครั้ง
- หากรู้สึกว่าตนเองไม่ไหวกับการทำงานอีกต่อไป คุณสามารถพูดคุยกับหัวหน้า ผู้บริหารโดยตรง บอกเล่าความรู้สึก สิ่งที่เกิดขึ้นจริง และถ้ายังไม่มีการแก้ไขก็อาจต้องเปลี่ยนงานใหม่ อย่างน้อยอาจเป็นช่วงเวลายากลำบากแต่ก็เพียงแค่สั้น ๆ ดีกว่าต้องแบกรับความหนักหนาไปอีกนานแสนนาน
ไม่ว่าคุณกำลังเข้าข่ายของการเป็นโรคคาโรชิ ซินโดรม หรือไม่ก็ตาม การเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาเบื้องต้นจากสาเหตุด้านความเครียด ความกดดัน และการทำงานที่มากเกินไป ย่อมช่วยให้ชีวิตและสุขภาพดีขึ้น ซึ่งคำแนะนำเหล่านี้สามารถใช้ได้กับทั้งคนที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นและคนทำงานทุกองค์กรทั่วโลก แม้งานจะสร้างเงินแต่อย่าลืมว่าชีวิตของตนเองสำคัญที่สุด