content
สิ่งที่ต้องประเมินก่อนสมัครงานบริษัทญี่ปุ่น
- รายได้และผลตอบแทนที่จะได้รับ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าเรื่องของรายได้ยังไงก็ต้องยืนหนึ่งในฐานะของสิ่งที่ต้องใช้พิจารณาเพื่อเลือกบริษัทญี่ปุ่นเข้าทำงาน ทั้งนี้ต้องทำความเข้าใจถึงงบประมาณหรือเรทอัตราเงินเดือนที่องค์กรเป็นผู้กำหนดตามความเหมาะสม การสมัครงานไม่ใช่ต้องเลือกบริษัทที่ให้ฐานเงินเดือนสูงสุดเสมอไป แต่เมื่อวิเคราะห์จากผลตอบแทนด้านอื่นที่มีโอกาสเกิดขึ้น เช่น ค่าโอที ค่าเบี้ยเลี้ยง โบนัส ค่า Incentive ค่าโบนัสจากยอดขาย ฯลฯ ถ้ามีโอกาสทำเงินได้มากกว่าแค่ฐานเงินเดือนปกตินั่นอาจเป็นทางเลือกที่เหมาะสมกว่าก็ได้
- สวัสดิการที่คนทำงานจะได้รับ
พื้นฐานสำคัญอย่างหนึ่งก่อนสมัครงานบริษัทญี่ปุ่นต้องประเมินเรื่องของสวัสดิการที่ตนเองจะได้รับกลับมาด้วย หลายคนมองแค่เรื่องรายได้เป็นตัวเลขตัวเงินอย่างเดียว แต่เมื่อเข้าไปทำงานจริงต้องเจอเหตุการณ์หักค่าใช้จ่าย หรือต้องจ่ายเงินเองในหลายเรื่องแบบนี้อาจไม่ใช่สิ่งที่ตอบโจทย์มากนัก การมีสวัสดิการที่ดียังบ่งบอกถึงความใส่ใจที่องค์กรนั้น ๆ มอบให้กับพนักงานอีกด้วย โดยสวัสดิการเบื้องต้นที่ควรได้รับก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสม เช่น ประกันสุขภาพกลุ่ม ประกันอุบัติเหตุกลุ่ม สิทธิ์การลางานตามกฎหมายแรงงาน ฯลฯ
- ช่องทางการเติบโตในสายอาชีพที่ทำ
เป็นเรื่องปกติเมื่อทำงานบริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรไหนก็ตามไปสักพัก สิ่งที่คนส่วนใหญ่มองหาย่อมตั้งเป้าหมายของตนเองให้สูงขึ้น เช่น จากพนักงานสู่หัวหน้าแผนก หัวหน้าฝ่าย ก้าวสู่การเป็นผู้จัดการ จึงต้องลองสังเกตช่องทางตามสายงานของตนเองถึงโอกาสการเติบโตมีมากน้อยเพียงใด อาจใช้วิธีสอบถามจาก HR โดยตรงในช่วงที่ HR เปิดให้คุณถามข้อสงสัยก็ได้ เพื่อเป็นแนวทางประเมินความเหมาะสมกับการเข้าทำงานในองค์กรดังกล่าว ถ้าเข้าไปแล้วต้องอยู่ที่เดิมไปอีกหลายปีคงไม่ใช่เรื่องดีเท่าไหร่นัก
- ความก้าวหน้าขององค์กรที่เลือกสมัคร
สิ่งต่อมานอกจากการประเมินความเหมาะสมระหว่างตนเองกับองค์กรแล้ว ก่อนสมัครงานบริษัทญี่ปุ่นสิ่งที่อยากให้ศึกษาอีกเรื่องคือด้านความก้าวหน้าขององค์กร หากถามว่าแล้วจะรู้ได้ยังไง? ก็ลองศึกษาข่าวสาร ข้อมูลที่มีเกี่ยวกับองค์กรนั้น ๆ มีการนำเทคโนโลยีใหม่เข้ามาใช้มากน้อยเพียงใด หรือลองสอบถามพูดคุยกับทาง HR ถึงนวัตกรรมล่าสุดที่องค์กรอื่นใช้กันแล้ว หากบริษัทที่คุณสมัครยังทำงานกันแบบยุคเก่า ไม่นำเอาเทคโนโลยีใด ๆ เข้ามาเกี่ยวข้องเลย นั่นบ่งบอกถึงความล้าหลัง ไม่พัฒนา ซึ่งไม่ใช่ผลดีต่อตัวพนักงานสักเท่าไหร่นัก มองไม่เห็นความก้าวหน้าอย่างที่ควรเป็น
- รูปแบบการทำงานที่เหมาะกับสไตล์ของตนเอง
แม้พื้นฐานการทำงานบริษัทญี่ปุ่นส่วนใหญ่จะเน้นความจริงจัง ซีเรียส มีความรับผิดชอบสูง แต่ในอีกมุมหนึ่งคุณก็ต้องประเมินด้วยว่าวัฒนธรรมองค์กร หรือแนวทางการทำงานของบริษัทเหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณมากน้อยแค่ไหน เช่น หากต้องทำงานในวันหยุดแต่ได้ค่าแรงไม่คุ้ม หรือไม่มีการทำงานแบบ Work Life Balance เลย ถ้าเป็นคนรักการทำงานอยู่แล้วเรื่องนี้อาจไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าสไตล์คุณเป็นแนววันหยุดคือการพักผ่อนองค์กรดังกล่าวคงไม่ตอบโจทย์อย่างที่ต้องการมากนัก
- การเดินทางก็มีส่วนสำคัญในการตัดสินใจ
อีกเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาดก่อนเลือกบริษัทญี่ปุ่นเพื่อไปสมัครงานนั่นคือการเดินทาง หากต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ฝ่าฟันรถติด หรือตื่นเช้าเกินเหตุ กลับบ้านมืดค่ำ แม้รายได้ดีแต่ถ้าลองเปรียบเทียบค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้น การเสียเวลาชีวิตบนท้องถนนอาจไม่ใช่คำตอบเท่าใดนัก ยกเว้นว่าคุณสามารถย้ายตัวเองไปอยู่ใกล้ที่ทำงานได้แบบนี้ก็ไม่ใช่ปัญหา แต่ถ้าต้องใช้เวลาเดินทางนานอาจต้องลองประเมินถึงความคุ้มค่าจากรายได้และความเหนื่อยล้าที่จะเกิดขึ้นสู้ได้มากน้อยแค่ไหน
- งบกำไรขาดทุนขององค์กร
ข้อสุดท้ายอาจเจาะลึกสักนิดโดยเฉพาะคนที่วางแผนอยากทำงานแบบระยะยาวกับบริษัทนั้น ๆ อาจต้องลองหาข้อมูลเกี่ยวกับงบกำไรขาดทุนในแต่ละปีเฉลี่ย 2-3 ปี ที่ผ่านมาว่าเป็นอย่างไรบ้าง หากทิศทางเป็นในเชิงบวก มีกำไรเปอร์เซ็นต์เหมาะสมก็แสดงถึงอนาคตที่ดี มีแนวโน้มเติบโตได้อีก แต่ถ้าองค์กรที่ติดลบอยู่ตลอด ตัวเลขสีแดง หากคุณเข้าไปทำงานจริงอาจอยู่ไม่ได้นาน หรือเงินเดือนที่ตกลงกันไว้มีสิทธิ์ไม่เป็นไปตามที่คุยได้เช่นกัน อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยละเอียดอ่อน แต่ถ้าเช็กข้อมูลเอาไว้ครบถ้วนก่อนย่อมได้เปรียบกับการสมัครมากกว่า
ทั้ง 7 ข้อที่แนะนำมานี้ล้วนเป็นวิธีดี ๆ ที่ทุกคนสามารถนำไปใช้ประเมินความพร้อมของบริษัทญี่ปุ่นก่อนตัดสินใจสมัครงานบริษัทญี่ปุ่นได้เลย เพราะเมื่อตั้งใจแล้วคงไม่มีใครอยากเสียเที่ยวต้องหาสมัครงานที่ใหม่หลายรอบ พร้อมย้ำว่าชื่อบริษัทใหญ่เล็กอาจไม่ใช่เรื่องที่ต้องพิจารณาตั้งแต่เริ่มเสมอไป เพราะการทำงานบริษัทญี่ปุ่นหากคุณมีทักษะ ขยัน อดทน ก็สามารถเติบโตในสายงานของตนเองได้อย่างแน่นอน