8 จุดด้อยในการทำงานที่ต้องกล้าปรับตัวเพื่อการเติบโตในอาชีพ

8 จุดด้อยในการทำงานที่ต้องกล้าปรับตัวเพื่อการเติบโตในอาชีพ

ไม่ว่าใครต่างก็มีข้อด้อย ข้อเสียของตนเองเป็นเรื่องปกติ แต่ถ้าคุณสามารถปรับเปลี่ยน หรือพัฒนาศักยภาพให้สิ่งเหล่านั้นไม่เป็นข้อจำกัดของการทำงาน การใช้ชีวิตนั่นเปรียบกับความสำเร็จอย่างหนึ่งได้เลยทีเดียว ซึ่งการทำงานบริษัทญี่ปุ่นหรือองค์กรไหนก็ตามเมื่อรู้อยู่แล้วว่าจุดด้อยในการทำงานคืออะไรก็ต้องพยายามอย่างหนักที่จะต้องเพิ่มเติมทักษะ ความรู้ หรือเปลี่ยนอะไรบางอย่างในตัว และนี่คือ 8 จุดด้อยที่อยากให้ทุกคนลองปรับตัวเองใหม่เพื่อการเติบโตในบริษัทญี่ปุ่น

เช็ก 8 จุดด้อยในการทำงานที่ต้องการปรับเปลี่ยน

  1. ไม่เก่งเลยไม่กล้าลงมือทำ

จุดด้อยในการทำงานอย่างแรกที่เชื่อว่าหลาย ๆ คนเป็นนั่นคือพอรู้สึกว่าตนเองไม่เก่งเรื่องไหนก็มักไม่อยากทำ ไม่ยอมทำ หรืออธิบายแบบเข้าใจง่ายว่า “ไม่กล้า” นั่นเอง เช่น พูดภาษาญี่ปุ่นไม่เก่ง ไม่ถนัดการใช้ภาษาญี่ปุ่น พอต้องพบเจอกับผู้บริหารจะรู้สึกไม่อยากคุย ไม่อยากให้ตนเองโดนคำถามอะไรทั้งที่บ่อยครั้งผู้บริหารก็เข้าใจเรื่องนี้ดี แต่ด้วยท่าทางที่แสดงออกชัดเจนเกินไปว่าไม่กล้าบ่อยครั้งก็มักทำให้คนอื่นมองเป็นข้อด้อย ขาดโอกาสอันดีที่จะเติบโตและพัฒนาสู่อนาคต

  1. ขาดความมั่นใจในตัวเอง

จะเรียกว่านี่เป็นพื้นฐานของพนักงานหลายคนคงไม่ใช่เรื่องผิดนัก เวลาต้องนำเสนองาน หรือต้องพบเจอลูกค้าแบบตัวต่อตัวจะรู้สึกประหม่า เครียด จนสีหน้าท่าทาง อาการออกชัดเจน หากเป็นแค่ช่วงแรกของการทำงานก็พอเข้าใจได้ แต่ถ้าคุณต้องทำสิ่งนั้นบ่อย ๆ เช่น นำเสนอผลงานต่อหน้าลูกค้าแล้วยังขาดความมั่นใจแบบนี้อนาคตในบริษัทญี่ปุ่นอาจไม่ค่อยสู้ดีเท่าไหร่นัก เพราะคนอื่นมีโอกาสแซงหน้าได้ง่ายมาก ดังนั้นจึงต้องปรับตัวและกล้าให้มากขึ้น

  1. ใส่ใจแต่เรื่องเล็ก ๆ ละเอียดอ่อนเกินเหตุ

การใส่ใจทุกรายละเอียดเป็นเรื่องดีของการทำงาน แต่บ่อยครั้งก็อาจกลายเป็นจุดด้อยได้เช่นกัน หากคุณใส่ใจกับเรื่องเล็กจิ๋วมากจนลืมมองว่าเรื่องดังกล่าวแทบไม่ได้ส่งผลกระทบอะไรต่อผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น ในอีกมุมดันทำให้งานช้ากว่าที่กำหนด สร้างความเสียหายเข้ามาแทนที่ เช่น การทำไฟล์พรีเซนต์งานลูกค้า ดันใส่ใจกับแค่เรื่องขนาดตัวอักษร การใช้ตัวอักษรคนละฟอนต์ แต่ไม่ได้มองเนื้อหาหลักว่าข้อมูลผิดพลาดเรื่องสถิติ นั่นจึงกลายเป็นความผิดพลาดที่ใหญ่หลวงเข้ามาแทน

  1. ไม่กล้าที่จะขอความช่วยเหลือ

ส่วนมากคนที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นที่พึ่งเข้าใหม่มักมีอาการแบบนี้เยอะ หรือบางคนที่ไม่อยากให้ตนเองโดนตำหนิ โดนต่อว่าจากหัวหน้างานก็จะไม่ค่อยกล้าขอความช่วยเหลือจากใคร ท้ายที่สุดผลงานออกมาผิดจากเป้าหมายที่ให้ทำ ส่งผลเสียใหญ่หลวงมากกว่าที่คาดเอาไว้หลายเท่า เช่น นำเสนอขายลูกค้าแต่ไม่มั่นใจข้อมูลตัวเลข ไม่กล้าถามเจ้านายกลัวถูกตำหนิจึงให้ข้อมูลผิด สุดท้ายลูกค้าตกลงซื้อแต่ราคานั้นไม่สามารถขายได้ นอกจากคุณต้องรับผิดชอบกับตัวเลขที่ขาดทุนแล้ว กรณีปฏิเสธลูกค้ายังสร้างความเสื่อมเสียให้กับแบรนด์อีกด้วย อย่าเสี่ยงกับเรื่องเหล่านี้แล้วขอความช่วยเหลือดีกว่า

  1. ไม่กล้าปฏิเสธคน

อีกจุดด้อยในการทำงานที่ดูตรงข้ามกันแต่มักพบเจอบ่อยมากนั่นคือ ไม่กล้าปฏิเสธคนจนบางทีภาระหน้าที่การทำงานตกอยู่ที่คุณคนเดียว สร้างความเครียด ความกดดันในชีวิต ไม่มีเวลาเป็นของตนเอง แถมงานก็ออกมาไม่ดีอย่างที่ตั้งใจเอาไว้อีกต่างหาก การปฏิเสธคนไม่ใช่เรื่องผิดแต่มันแค่บ่งบอกให้อีกฝ่ายรู้ว่าบางทีการขอความช่วยเหลือก็ควรต้องมีมารยาทและมองตามความเหมาะสม เช่น งานตรงหน้าคุณก็เยอะอยู่แล้วแต่ยังขอให้ช่วยเหลือทำนั่นทำนี่ เพราะตนเองต้องเลิกงานเร็ว แบบนี้รีบรวบรวมความกล้าปฏิเสธไปเลย

  1. ชอบทำงานคนเดียว ไม่นิยมทำงานเป็นทีม

หลายคนอาจไม่รู้ว่าบริษัทญี่ปุ่นส่วนมากจะนิยมทำงานเป็นทีม เพราะได้ระดมความคิด สร้างไอเดีย จนเกิดผลลัพธ์อันน่าพึงพอใจสูงสุด ใครที่ชอบทำงานคนเดียวแต่ดันทำงานบริษัทญี่ปุ่นบ่อยครั้งจึงเหมือนเป็นจุดด้อยในการทำงานมากกว่าข้อดี ต้องรู้จักปรับตนเอง บางทีเวลาทำงานเป็นทีมอาจมีเรื่องผิดใจกันบ้าง แต่คนส่วนใหญ่ก็จะรู้ว่าหลังจบการทำงานทุกอย่างจบ ไม่เก็บมาคิดเล็กคิดน้อย

  1. ชอบกดดันตัวเองขณะทำงาน

อีกจุดด้อยที่ควรรีบแก้ไขให้เร็วที่สุดนั่นคือการเป็นคนที่ชอบกดดันตนเองเมื่อต้องทำงาน รู้ว่าอยากทำให้ออกมาดี แต่ถ้ายิ่งกดดันมากไปท้ายที่สุดผลลัพธ์มันไม่ค่อยเป็นดังใจหวังมากนัก การทำงานบริษัทญี่ปุ่นรู้ดีว่าบ่อยครั้งก็มีเรื่องให้ต้องคิดเยอะ แต่เมื่อภายนอกกดดันมาแล้วก็อย่าไปกดดันตัวเองซ้ำจนงานออกมาไม่ดี หรืออาจเข้าขั้นแย่จนกำลังใจเสียไปโดยใช่เหตุ ใจเย็น วางแผนการทำงานให้เหมาะสม แล้วเริ่มต้นทำอย่างมีสติ

  1. กล้าให้ Feedback เมื่อเห็นข้อผิดพลาด

ท้ายที่สุดถ้าอยากให้งานออกมาดี ทุกคนได้ผลประโยชน์เมื่อเห็นสิ่งไหนเป็นข้อผิดพลาดต้องกล้าให้ Feedback หรือมีคอนเมนต์ตอบกลับไปเสมอ รวมถึงพยายามบอกคนทำงานร่วมกันว่านี่ไม่ใช่การจำผิดแต่เป็นคำแนะนำที่อยากให้ช่วยตรวจสอบ ปรับปรุง แก้ไข เพื่อสุดท้ายทุกคนจะได้ผลลัพธ์ที่ดีเหมือนกัน ไม่ใช่ใครได้หน้าหรือรับความดีความชอบไปเพียงคนเดียว

นี่คือ 8 จุดด้อยในการทำงานทั้งคนที่ทำงานบริษัทญี่ปุ่นและทุกองค์กรสามารถนำไปปรับใช้กับตนเองได้ เพื่อประโยชน์ของทุกคน ไม่ใช่แค่บริษัทญี่ปุ่นหรือหน่วยงานเท่านั้น เพราะท้ายที่สุดทุกภาคส่วนต่างต้องพึ่งพาอาศัยระหว่างกันนั่นเอง

Other Articles